วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หยุด SELF-BAN พืชผักไทย ไปอียู

หลังจากที่อียูยอมรับ(ถึงอย่างไรก็ต้องยอมรับ) การเสนอมาตรการตรวจสอบตัวเอง 100 % ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงขั้นตอนการส่งออก ตามที่ผู้แทนการค้าไทยยื่นหนังสือถึงอียู แทนมาตรการแบนตัวเอง (self-ban) สินค้าผัก 5 กลุ่ม 16 ชนิดได้แก่ พืชกลุ่ม Ocimum spp. (กะเพรา โหระพา แมงลัก ยี่หร่า) พืชกลุ่ม Capsicum spp. (พริกหยวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู) พืชกลุ่ม Solanum melongena (มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาว มะเขือขื่น) และพืชกลุ่ม Momordica charantia (มะระจีน มะระขี้นก) พืช Eryngium foetidum (ผักชีฝรั่ง) ถือเป็นข่าวดีที่ผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้อง หลายคนดีใจ หลายคนเฉยๆ และหลายคนตั้งคำถามว่า แล้วมันต่างกับ แบนตัวเองตรงไหน???
ปลายเดือน มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ได้เรียกประชุมผู้ส่งออกและผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ทราบถึงผลที่ผู้ประกอบการยังสามารถส่งออกพืชผักไปอียูได้ แต่ต้องเปิดตรวจ 100% ที่หน้าด่านสนามบินสุวรรณภูมิ หลายคนตั้งข้อสงสัย เปิดทุกกล่องเจ้าหน้าที่จะพอหรือ? เวลาที่ใช้ในการตรวจนานแค่ไหน? เปิดตรวจแล้วสภาพสินค้าจะเป็นอย่างไร? จะขนสินค้ากลับ หลังจากตรวจพบศัตรูพืชมากน้อยแค่ไหน สินค้าต้องตกเครื่องจะทำอย่างไร สุดท้ายผู้ประกอบการจะข้ามพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ เป็นผลที่กำลังรอการประเมินในเวลาอันใกล้นี้...แต่มาตรการทางอียูที่แจ้งเตือน และกรมวิชาการเกษตรระงับ และเพิกถอนใบอนุญาต GMP ยังคงเหมือนเดิม ปัจจุบันยังคงมีบริษัทถูกระงับเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง...
สรุปประเด็นให้เห็นชัดคือ ต้องขนสินค้ามาเร็วกว่าเดิมอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เปิดตรวจทุกกล่อง ไม่ทันก็ตกเครื่อง เปิดตรวจแล้วพบศัตรูพืชก็ขนกลับ ถ้าผ่าน สภาพที่เกิดขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละผู้ส่งออกจะส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดการดูแลให้สินค้าอยู่ครบและสภาพพร้อมขายอย่างไร? ซึ่งเป็นปัญหาปลีกย่อยที่ตามมาและแก้ไขยาก ท้ายที่สุดคงดำเนินการไประยะหนึ่ง รอแผนสองที่จะนำมาใช้ คือ การบริหารจัดการตนเอง (establish management) นั่นก็หมายความว่าผู้ที่จะส่งพืชผักไปอียูต้องมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการตนเองได้ แล้วเสนอแผนไปที่กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำเสนออียู ใครทำได้(อียู ยังคงตรวจเข้มเหมือนเดิม) สามารถส่งออกได้ และค่อย ๆ ปลดล็อคการตรวจให้น้อยลง ๆ ในที่สุดบริษัทที่มีประวัติดีจะได้รับสิทธิพิเศษ ยกเว้น หรือมีรอบการตรวจสอบ 7,15,30 วัน ขึ้นอยู่กับระบบของบริษัทนั้น ๆ จะคุมตนเอง คุมกลุ่มเกษตรกร ซึ่งก็คล้าย ๆ กับ ส่งผักผลไม้ไปญี่ปุ่น คาดกันว่า บริษัทผู้ส่งออกรวมทั้งเทรดเดอร์สองร้อยกว่าบริษัท คงเหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น ใครทำไม่ได้ก็อาจจะพักยาว!!!

ตามเงื่อนไขการส่งออกพืชผักผลไม้สดไปอียู บริษัทผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนการและต้องมีโรงคัดบรรจุที่ได้การรับรอง GMP จากกรมวิชาการเกษตร บางโรงคัดบรรจุ บางบริษัทเป็นเพียงเป็นเทรดเดอร์ ก็ว่าจ้างโรงคัดบรรจุที่ได้ GMP ส่งออกได้เช่นกัน หลายบริษัทยังมีความคิดว่า GMP เป็นเพียงยันต์กันผีเท่านั้น ในขณะที่บริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผักและผลไม้สดเป็นอาชีพส่วนใหญ่กลับมองว่า GMP มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องการสร้างระบบที่เป็นที่ยอมรับของคู่ค้า ปลอดสารพิษ ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ และปลอดศัตรูพืชจริงๆ โดยที่ศัตรูพืชกลายเป็นประเด็นร้อนที่อียูวางมาตรการเอาจริงเอาจังในขณะนี้ 
แม้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น จะมีเหตุผลในเชิงการค้าหลายอย่างมาเป็นข้ออ้าง แต่หากลองย้อนดูระบบในโรงคัดบรรจุของผู้ส่งออก จะพบว่ายังปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามระบบ GMP มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างละเอียดครบถ้วนแล้วหรือยัง? (ยังไม่ต้องคิดไกลถึง GOLBAL-GAP หรือ THAI-GAP) หากยัง หรือทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ วันนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตนเองได้แล้ว การตรวจสอบตัวเองขั้นสูงสุด (ตามขั้นตอน GAP) เพื่อให้ผ่านกฏเข้มครั้งนี้ ไม่มีข้ออ้างใด ๆ เป็นอุปสรรค์ วันนี้ ต้องเสริมอุปกรณ์เพื่อตรวจศัตรูพืช(เช่น แว่นขยาย) ต้องเพิ่มคน เพิ่มเวลา เพิ่มต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ต้องทำ! มิฉะนั้นไม่มีทางผ่านกฏเหล็กที่ด่านสุวรรณภูมิ และที่ปลายทางได้ ตัวอย่างที่เห็นชัด ลองดูซิว่าหากเราจะตรวจสอบศัตรูพืชที่ติดมากับผักใบกลุ่มกระเพาะ โหรพา ลองใช้แว่นขยายส่องดูทุกก้าน ทุกใบ หลายบริษัทอาจจะบอกว่าทำไม่ได้เพราะคัดและบรรจุครั้งหนึ่ง ๆ หลายร้อยกิโล ทำไม่ทัน ตอนนี้ คำตอบชัดเจนที่สุดคือ ต้องทำ!!! ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งจากแปลงปลูก ระหว่างขนส่ง ก่อนรับวัตถุดิบ ระหว่างผลิต หลังผลิต แม้ว่าต้นทุนจะสูง ก็ต้องทำ!!! สุดท้ายต้องเพิ่มราคาขายครับ!! แต่การเพิ่มราคาขาย ต้องเพิ่มในส่วนของต้นทุนที่แท้จริง อย่าผสมโรงอาจจะทำให้ลูกค้าไม่ไว้ใจ อีกประการหนึ่ง เมื่ออียูเข้ม ประเทศไทยเข้ม เกษตรกรมีวินัย มีความรับผิดชอบและเข้าใจ ผู้ส่งออกปรับปรุง ตรวจสอบ ระบบ GMP ทุกขั้นตอนของตนเอง มีวินัยและรับผิดชอบ ไม่สุกเอาเผากิน เชื่อเถิดครับ! แม้ว่าอียูจะเพิ่มกฏระเบียบมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรจะออกประกาศอีกสักกี่ฉบับ อย่างไรก็ผ่านฉลุย!!!
อย่ากังวลประเทศเพื่อนบ้านจะผลิตสินค้าคุณภาพต่ำแล้วขายถูกแข่งตลาดเราเลย วันนี้กังวลแต่ว่า ประเทศเหล่านั้นจะพัฒนาคุณภาพเหนือเราขายราคาเดียวกับเรา(เพราะต้นทุน ค่าแรง ปุ๋ย ยาถูกกว่าเรา) แล้วแย่งตลาดเราไป กระแสความปลอดภัยจากอาหารกำลังเป็นกระแสที่มาแรง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้นผู้ผลิต ผู้ส่งออก อย่ามัวคิดกังวลเรื่องของการขายของถูกเข้าว่า คุณภาพช่างหัวมัน ฉันไม่ได้รับประทาน ขนขยะไปขาย วิธีคิดอย่างนี้หมดยุคแล้วครับ บางทีวิกฤตครั้งนี้จะเข้าตาจนสำหรับคนที่คิดแบบเดิมๆ ปฏิบัติแบบเดิม ๆ  และวิกฤตจะกลับมาเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออก และกลุ่มเกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง หันกลับมามุ่งมั่นสร้างสรรอย่างประณีต ปลอดภัย ให้อยู่เหนือระดับคู่แข่งขัน อยู่เหนือมาตรฐานกฏระเบียบที่มีอยู่ อีกทั้งอย่ากังวลว่า ผู้อื่นจะใช้วิธีส่งผ่านประเทศอื่น ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเงื่อนไขเวลา ความสด การขนส่ง และคุณสมบัติผักไทย ทั้งชนิด รสชาติ กลิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผักบางส่วนที่ลูกค้าไม่สั่งจากเรา แต่สั่งจากประเทศอื่นก็เพราะกลิ่น และรสชาติที่ไม่เหมือนผักไทย ขอเพียงอย่านิ่งนอนใจ ควบคุม คุณภาพ ความปลอดภัย ราคาเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบไม่ปลอมปนขนขยะไปขาย นี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ส่งออกยืนอยู่บนกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนผ่านวิกฤติ และผลิกกลับมาเป็นโอกาสในการขายสินค้าดีมีคุณภาพ ปรับราคาให้คุ้มค่ากับการลงทุน
ส่วนของผู้นำเข้าเชื่อว่าเขารู้ตัวและเตรียมพร้อมรับสภาพที่เกิดขึ้น แม้ว่าราคาจะสูง ส่งผลต่อราคาขายก็ตามที เขาเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้นำเข้ารายใหญ่ไม่เสี่ยงซื้อสินค้าที่มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะนั่นหมายถึงอาชีพและอนาคตเขาเองด้วยเช่นกัน บทลงโทษที่อียูใช้ภายในสหภาพ ไม่ว่าผู้นำเข้า หรือประเทศอื่นที่ส่งเข้า ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ใช้กับเรา เพียงแต่ขณะนี้ผักไทยส่งเข้าไปได้รับความนิยมสูงสุดมานาน แน่นอนย่อมสร้างปัญหามากในตลาดอียู โดยเฉพาะด่านเยอรมันนี กับฝรั่งเศส(พบและแจ้งเตือนมากที่สุด) หลายคนกังวลเรื่องของการลักรอบส่งสินค้าที่ไม่สำแดงในใบสุขอนามัยเพื่อหลีกเลี่ยง หรือเพื่อขายในราคาต่ำ หากคิดจากความเป็นจริงตอนนี้ความเสี่ยงที่อาจจะถูกตรวจพบและดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดถือว่าไม่คุ้ม ผู้นำเข้าก็คงไม่เอาด้วยแน่ วันนี้ผู้ส่งออกต้องตรวจสอบระบบของตนเองให้สมบูรณ์และเข้มงวดที่สุด เพิ่มมาตรฐานตนเองสู่สากล คัดบรรจุสินค้าอย่างปราณีต คุณภาพสูงสุด แม้ว่าต้องเพิ่มต้นทุน ค่าแรง และเทคโนโลยีก็ต้องทำ เพราะนี่คือทางออกที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากใครครับ!!!
                สร้างโอกาสจากวิกฤตคือทางรอดที่ยั่งยืน ผู้ส่งออก และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ต้องหันมาจับมือผสานพลังร่วมกันสร้างสรรผักสดไทยให้มีคุณภาพสูงสุด ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ และปลอดจากศัตรูพืชจริงๆ ด้วยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Contract Farming) ประกันราคา ประกันจำนวน และเพื่อสร้างตลาดในระดับสูงอย่างอียู ด้วยการนำต้นทุนที่แท้จริงของเกษตร ของผู้ส่งออกมาตีแผ่แล้วแชร์ผลกำไรร่วมกัน หลายกลุ่มกำลังพัฒนาก้าวไกลเกินว่าที่เราเคยรับรู้  ลองย้อนไปดูกลุ่มเกษตรกรรายย่อย “มะม่วง”ดูซิครับ สามารถนำมาเป็นโมเดลปรับให้สอดคล้องกับชนิดของพืชผัก เชื่อว่าสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีรายได้คุ้มค่าต่อการลงทุน เกษตรกรเองก็อยากจะพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ผู้ส่งออกได้สินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย ส่งขายให้ลูกค้าปลายทางไม่เสียหาย ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้คุณภาพเกินความคาดหวัง ย่อมยอมจ่ายเงินซื้อสินค้านั้นๆในราคาสูง เป็นกระแสของผู้บริโภคที่ยกระดับตนเองไปพร้อม ๆ กันทั่วโลก ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ส่งออกจำเป็นต้องปรับตัวอย่างจริงจังในระดับสากล หนีคู่แข่งรอบบ้านด้วยการนำเอาองค์ความรู้มาบูรณาการกับความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์อย่างจริงจัง เข้มงวด เข้มข้น และเข้มแข็ง ที่สำคัญโอกาสและเวลามาถึงแล้ว คือ “การปรับราคาอย่างเป็นธรรม” สมเหตุสมผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันผู้ส่งออกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ปรับขึ้นราคาไม่ได้มานาน ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าแรง ค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าระวางเครื่องบิน ค่าเงินที่ผันผวน ภัยธรรมชาติ หิมะตก สนามบินปิด ประท้วง การเมือง จิปาถะเหตุการณ์ที่เกิด วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้นทุนที่แท้จริงแบบสากลควรถูกนำมาคิดอย่างยุติธรรม ผู้บริโภค ผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า ต้องได้กำไรอย่างเป็นธรรม เป็นโอกาสของผู้ส่งออกที่จะเพิ่มราคาขายอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เหมือนสภาพเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ ยิ่งขายยิ่งจน!!! วันนี้ ภาคเอกชนผู้ส่งออก กลุ่มเกษตรกร ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง(มากมาย) ต้องหันหน้า ผสานพลัง เผชิญวิกฤตที่เกิดขึ้น เข้าใจปัญหา ร่วมมือกันพัฒนาแก้ไขทั้งระบบ ที่สุดวิกฤตครั้งนี้จะกลับมาเป็นโอกาสสร้างชาติให้พืชผักไทยพัฒนาก้าวไกลไปอียูได้เติมโตยั่งยืนยิ่งกว่าเดิมที่เป็นอยู่ครับ...